วันพฤหัสบดีที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2551

ตำแหน่งทางวิชาการ

ครู คือบุคคลที่มีหน้าที่ หรือมีอาชีพในการสอนนักเรียน เกี่ยวกับวิชาความรู้ หลักการคิดการอ่าน รวมถึงการปฏิบัติและแนวทางในการทำงาน โดยวิธีในการสอนจะแตกต่างกันออกไปโดยคำนึงถึงพื้นฐานความรู้ ความสามารถ และเป้าหมายของนักเรียนแต่ละคน
คำว่า "ครู" มาจากศัพท์ภาษาสันสกฤต "คุรุ" และภาษาบาลี "ครุ, คุรุ"
ครูในระดับอุดมศึกษา
ผู้สอนในวิทยาลัย มหาวิทยาลัย หรือระดับอุดมศึกษา จะมีตำแหน่ง อาจารย์ โดยอาจารย์ที่ได้รับตำแหน่งทางวิชาการ ได้แก่ อาจารย์ (อ.), ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.), รองศาสตราจารย์ (รศ.) และ ศาสตราจารย์ (ศ.) ตามลำดับ การได้รับตำแหน่งทางวิชาการเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา
ตำแหน่งครู คือบุคคลที่ทำหน้าช่วยสอน สอนทบทวน สอนภาคปฏิบัติ แตกต่างจากอาจารย์ที่ สอนภาคบรรยาย
ครูใหญ่
ครูที่ทำหน้าที่ดูแลระบบทั้งโรงเรียนจะเรียกว่า ครูใหญ่ ซึ่งคล้ายคลึงกับคณบดี หรืออธิการบดี ในระดับอุดมศึกษา โดยหน้าที่ของครูใหญ่มักจะทำหน้าที่ดูแลระบบการจัดการของโรงเรียนมากกว่าการสอนในห้องเรียน ต่อมาเป็นตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา มีทั้งครูใหญ่..., อาจารย์ใหญ่..., ผู้อำนวยการ... ณ ปัจจุบันใช้"ผู้อำนวยการสถานศึกษา" เช่น ผู้อำนวยการโรงเรียน..., ผู้อำนวยการวิทยาลัย... ทำหน้าที่บริหารสถานศึกษา แต่ต้องมีชั่วโมงปฏิบัติการสอนอย่างน้อย 5 ชั่วโมง / สัปดาห์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (Assistant Professor) ใช้อักษรย่อว่า ผศ. เป็นตำแหน่งทางวิชาการ ต่อมาจากตำแหน่ง อาจารย์ ก่อนจะเป็น รองศาสตราจารย์ โดยต้องมีชั่วโมงสอน มีผลงานเอกสารประกอบการสอนอย่างน้อย 1 รายวิชา คุณภาพดี และผลงานวิจัย คุณภาพดี หรือ ผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่น
ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์แสดงถึงมีความรู้ ความสามารถ และมีผลงานทางวิชาการ ตรงตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยมีหน้าที่หลักในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาชั้นสูง คือ มีชั่วโมงสอนประจำวิชาใดวิชาหนึ่งที่กำหนดไว้ในหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษาและมีความชำนาญในการสอน และเสนอเอกสารประกอบการสอนที่ผลิตขึ้นสำหรับการสอนทั้งรายวิชาไม่น้อยกว่า 1 รายวิชา ซึ่งมีคุณภาพดี และได้ใช้ประกอบการสอนมาแล้ว โดยผ่านการประเมินจากคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการในข้อบังคับของสภาสถาบัน
ในประเทศไทย ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ จะต้องดำรงตำแหน่ง อาจารย์ และปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า กำหนด ตามระดับสุดท้ายที่สำเร็จการศึกษามา ดังนี้
o ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ต้องดำรงตำแหน่งอาจารย์และได้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 9 ปี หรือ
o ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทหรือเทียบเท่า ต้องดำรงตำแหน่งอาจารย์ และได้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือ
o ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกหรือเทียบเท่า ต้องดำรงตำแหน่งอาจารย์ และได้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือ
o ผู้ใดดำรงตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่น แต่ได้โอนหรือย้ายมาบรรจุและได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำในสถาบันอุดมศึกษา ตามเกณฑ์ที่ ก.พ.อ.กำหนด และได้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ราชการตามปกติ หรือได้รับอนุมัติให้ลาศึกษาบางส่วน (อย่างมากไม่เกิน 10 ชั่วโมง/สัปดาห์) ซึ่งตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์จะต้องผ่านการกลั่นกรองและประเมินผลงานอย่างเคร่งครัดและเข้มงวดในความถูกต้องของวิชา โดยคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ การเสนอขอแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้เสนอขอสามารถดำเนินการเพื่อขอแต่งตั้งได้ 2 วิธี คือ วิธีปกติ และวิธีพิเศษ ดังต่อไปนี้
วิธีปกติ หมายถึง ผู้เสนอขอมีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง มีความรู้ ความสามารถ และมีผลงานทางวิชาการ ตรงตามเกณฑ์ที่กำหนดทุกประการ
วิธีพิเศษ หมายถึง ผู้เสนอขอมีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งต่างไปจากที่กำหนดไว้ในมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง เช่น ระยะเวลาไม่ครบ หรือเสนอขอข้ามขั้น ซึ่งผู้เสนอขอต้องเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ และมีผลงานทางวิชาการที่สูงกว่าปกติ

รองศาสตราจารย์ (Associate professor) ใช้อักษรย่อว่า รศ. เป็นตำแหน่งทางวิชาการ ต่อมาจากตำแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ก่อนจะเป็น ศาสตราจารย์ โดยต้องมีชั่วโมงสอน มีผลงานเอกสารคำสอนอย่างน้อย 1 รายวิชา คุณภาพดี และงานแต่ง เรียบเรียง แปลหนังสือ คุณภาพดี หรือผลงานวิจัย คุณภาพดี หรือ ผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่นที่เป็นที่ยอมรับ
ตำแหน่งรองศาสตราจารย์แสดงถึงผู้มีความรู้ ความสามารถ และมีผลงานทางวิชาการ ตรงตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยมีหน้าที่หลักในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาชั้นสูง คือ มีชั่วโมงสอนประจำวิชาใดวิชาหนึ่งที่กำหนดไว้ในหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษาและมีความชำนาญพิเศษในการสอนและ ทำการสอนโดยใช้เอกสารคำสอน ประกอบการสอนมาแล้ว ทำการวิจัย ทำประโยชน์แก่สาธารณะ อาจมีงานแต่ง เรียบเรียง ตำรา หรือหนังสือที่ใช้ประกอบการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ซึ่งมีคุณภาพดี และได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ตามเกณฑ์ที่ ก.พ.อ. กำหนด
ในประเทศไทย ตำแหน่งรองศาสตราจารย์ จะต้องดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ และปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี และได้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ราชการตามปกติ หรือได้รับอนุมัติให้ลาศึกษาบางส่วน (อย่างมากไม่เกิน 10 ชั่วโมง/สัปดาห์) ซึ่งตำแหน่งรองศาสตราจารย์จะต้องผ่านการกลั่นกรองและประเมินผลงานอย่างเคร่งครัดและเข้มงวดในความถูกต้องของวิชา เมื่อผ่านการประเมินแล้วจึงจะได้รับการแต่งตั้งของสภามหาวิทยาลัย การเสนอขอแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รองศาสตราจารย์ ผู้เสนอขอสามารถดำเนินการเพื่อขอแต่งตั้งได้ 2 วิธี คือ วิธีปกติ และวิธีพิเศษ ดังต่อไปนี้
วิธีปกติ หมายถึง ผู้เสนอขอมีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง มีความรู้ ความสามารถ และมีผลงานทางวิชาการ ตรงตามเกณฑ์ที่กำหนดทุกประการ
วิธีพิเศษ หมายถึง ผู้เสนอขอมีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งต่างไปจากที่กำหนดไว้ในมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง เช่น ระยะเวลาไม่ครบ หรือเสนอขอข้ามขั้น ซึ่งผู้เสนอขอต้องเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ และมีผลงานทางวิชาการที่สูงกว่าปกติ

ศาสตราจารย์ หรือใช้อักษรย่อว่า ศ. เป็นตำแหน่งทางวิชาการสูงสุด ต่อมาจากตำแหน่ง รองศาสตราจารย์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ตามลำดับ หมายถึงอาจารย์ในระดับอุดมศึกษาที่มีข้อเสนอที่คนในวงการอ้างถึง และยกให้เป็นทฤษฎี หรือมีผลงานวิจัยที่ส่งกระทบโดยกว้าง
ในประเทศไทย ตำแหน่งศาสตราจารย์ ถือเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติที่แสดงถึงความเป็นผู้มีความรู้สูง และมีผลงานด้านการศึกษาของบุคคลนั้น ซึ่งต้องผ่านการกลั่นกรองและประเมินผลงานอย่างเคร่งครัดและเข้มงวดในความถูกต้องของวิชา ศาสตราจารย์ประเภทอื่นอาจมีวิธีพิจจารณาที่แตกต่างกันออกไป ตามประเภทของศาสตราจารย์
ความหมายของตำแหน่งศาสตราจารย์ในแต่ละประเภท
ตำแหน่งศาสตราจารย์ประจำ
ศาสตราจารย์ที่ต้องทำผลงานวิจัยและ/หรือแต่งตำรา
ศาสตราจารย์ประเภทนี้ เป็นศาสตราจารย์ที่เป็นพื้นฐานหลักของมหาวิทยาลัย เป็นตำแหน่งประจำ เช่น เป็นข้าราชการ หรือพนักงานมหาวิทยาลัย (รวมทั้ง มหาวิทยาลัยเอกชน) ที่สอนประจำอยู่ในมหาวิทยาลัย หรือ สถาบันอุดมศึกษา โดยต้องผ่านกระบวนการพิจารณาของสภามหาวิทยาลัย, พ.ร.บ.ระเบียบบริหารข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย จะมีผู้อ่านผลงานวิจัย/หนังสือตำราหรือสิ่งพิมพ์ทางวิชาการ ว่าได้มาตรฐานตามเกณฑ์หรือไม่ ทางคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย (ก.ม.)และทบวงมหาวิทยาลัย จะเป็นผู้ให้ความเห็นชอบ แล้วการแต่งตั้งก็นำเข้าคณะรัฐมนตรี เพื่อผ่านไปโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
ศาสตราจารย์คลินิก
จะแต่งตั้งจากผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์ทางด้านการสอนและการค้นคว้าวิจัยในภาคปฏิบัติ เช่น แพทย์เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ที่สอนนักศึกษาแพทย์ด้านคลินิก มีการค้นคว้าทดลองวิธีการรักษา หรือค้นพบสิ่งใหม่ในทางปฏิบัติ ได้นำผลนั้นมาเผยแพร่และสอนทางปฏิบัติที่มีคุณค่าทางวิชาการ แต่มีรูปแบบของผลงานไม่เข้าเกณฑ์ที่ใช้ขอตำแหน่งตามปกติ ในต่างประเทศ มีการตั้งตำแหน่ง "ศาสตราจารย์ปฏิบัติวิชาชีพ" (professor of practice) สำหรับผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถสูงเป็นที่ยอมรับในวงวิชาชีพนั้นๆ ที่มหาวิทยาลัยเปิดสอนสาขาวิชาชีพ เช่น สาขาการออกแบบวางแผน หรือการบัญชีเชิญมาเป็นอาจารย์สอนประจำแบบไม่เต็มเวลา หรือไม่ครบ 4 องค์ประกอบหลัก บางครั้งเรียก "adjunct professor"
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ หรือ ศาสตราจารย์กิตติคุณ
แต่งตั้งจาก "อาจารย์ประจำ" ผู้เคยเป็นศาสตราจารย์มาแล้วจากการวิจัยและ/หรือแต่งตำราของมหาวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญ หรือชำนาญพิเศษได้รับการยอมรับเป็นอย่างสูงในสาขาวิชานั้นมาก่อน และเกษียณอายุราชการแล้ว ที่สถาบันอุดมศึกษา เห็นสมควรแต่งตั้งเพื่อให้สร้างคุณประโยชน์ด้านการศึกษาให้แก่ภาคหรือสาขาวิชานั้นต่อไป โดยถือว่าผู้ได้รับการแต่งตั้งยังคงมีสิทธิ์ใช้ชื่อศาสตราจารย์นำหน้า และยังสามารถบ่งบอกสังกัดตนได้ต่อไปจนถึงแก่กรรมหรือเมื่อทำความผิดร้ายแรง ตำแหน่งนี้ตรงกับภาษาอังกฤษว่า "professor emeritus" ซึ่งธรรมเนียมการใช้ชื่อในภาษาอังกฤษจะใช้โยงกับสาขาวิชา เช่น Professor Emeritus of Mathematics Isaac Newton หรือ Isaac Newton, Professor Emeritus of Mathematics เป็นต้น
อนึ่ง การใช้ชื่อ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ หรือ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยกำหนด เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใช้ "กิตติคุณ" ส่วนมหาวิทยาลัยมหิดล ใช้ "เกียรติคุณ" เป็นต้น ซึ่งความเป็นอาจารย์ประจำในกรณีนี้ หมายถึง การผูกพันเป็นการประจำกับคณะที่ขอแต่งตั้ง ต่างกับศาสตราจารย์เกษียณอายุที่ได้รับการต่ออายุราชการถึง 65 ปี ซึ่งถือเป็นการทำงานประจำเต็มเวลาปกติเหมือนอาจารย์ประจำทั่วไป
ในประเทศไทยยังมีผู้เข้าใจว่าศาสตราจารย์เกียรติคุณ หรือ ศาสตราจารย์กิตติคุณ เป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิจากบุคคลภายนอกทั่วไปเพื่อเป็นเกียรติเท่านั้น โดยไม่ต้องเป็นศาสตราจารย์มาก่อนซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
ตำแหน่งศาสตราจารย์ ที่ไม่ประจำ หรือแต่งตั้งโดยวิธีอื่น
มหาวิทยาลัยอาจแต่งตั้งบุคคลภายในหรือภายนอกมหาวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญยิ่งในสาขาวิชาที่เป็นผู้นำและเป็นตัวอย่างที่ดีของนักวิชาการชั้นเยี่ยม มีมาตรฐานสูงทางคุณธรรม จริยธรรม และมีความซื่อตรงต่อวิชาชีพ ยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น โดยมหาวิทยาลัยกำหนดขอบเขตความรับผิดชอบและระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งและรับเงินเดือนหรือเงินตอบแทนจากทุนต่างๆ ที่ตั้งขึ้นเพื่อให้ปฏิบัติภารกิจที่เป็นงานทางวิชาการ โดย
ศาสตราจารย์พิเศษ
แต่งตั้งจากบุคคลภายนอกซึ่งไม่ใช่เป็นอาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัย หรือสถาบันนั้น โดยต้องเป็นผู้มีประสบการณ์ทางด้านวิชาการ ที่อาจจะเป็นอาจารย์พิเศษทรงคุณวุฒิสูง และทำหน้าที่สอนให้มหาวิทยาลัยมานาน หรือเป็นบุคคลที่ได้อุทิศตัว มีความรู้มีประสบการณ์ต่างๆ ที่ผ่านการประเมิน โดยการกลั่นกรองจากสภามหาวิทยาลัยเป็นผู้พิจารณาเสนอ การแต่งตั้งจะต้องได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ
ศาสตราภิชาน
เป็นตำแหน่งศาสตราจารย์ที่มีชื่อผู้อุปถัมภ์ประจำอยู่ ภาษาอังกฤษใช้ว่า chair professor หมายถึง เก้าอี้หรือตำแหน่งเฉพาะที่ตั้งไว้สำหรับศาสตราจารย์เฉพาะสาขาใดสาขาหนึ่งที่มีผู้มาตั้งไว้พร้อมทั้งเงินตอบแทนหรือเงินเดือน เป็นตำแหน่งที่ตั้งไว้สำหรับผู้มีความรู้ความชำนาญสูงสุดเป็นที่ยอมรับในหมู่ปราชญ์สาขาเดียวกันที่มหาวิทยาลัยเชิญมา ในต่างประเทศ ตำแหน่งศาสตราจารย์ในกลุ่มนี้ เช่น Lucasian professor of mathematics ซึ่งเป็นตำแหน่งศาสตราภิชานที่เรียกเต็มว่า "Lucasian Chair of Mathematics" เป็นตำแหน่งที่ เฮนรี ลูคัส ตั้งไว้ที่ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เมื่อ พ.ศ. 2206 และได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระเจ้าชาร์ล ที่ 2 ในปีถัดมา(ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) นับถึงปัจจุบันมีผู้ได้รับตำแหน่งนี้เพียง 17 คน ในจำนวนนี้ ไอแซก นิวตันอยู่ในลำดับที่ 2 และสตีเฟน ฮอว์คิงซึ่งได้รับตำแหน่งตั้งแต่ พ.ศ. 2523 จนถึงปัจจุบัน
ตำแหน่งศาสตราภิชานที่มีเกียรติสูงเป็นตำแหน่งเฉพาะสาขาวิชา มีตำแหน่งเดียวและมักเป็นตำแหน่งตลอดชีพ จะว่างเมื่อผู้ครองตำแหน่งถึงแก่กรรม ไร้ความสามารถ หรือลาออก
ศาสตราจารย์อาคันตุกะ
ศาสตราจารย์อาคันตุกะ ตรงกับชื่อภาษาอังกฤษว่า visiting professor หมายถึงศาตราจาย์ที่ดำรงหรือเคยดำรงตำแหน่งอยู่ ณ สถาบันหรือมหาวิทยาลัยหนึ่งแล้วและได้รับเชิญจากอีกมหาวิทยาลัยให้มาสอนหรือวิจัยภายในช่วงเวลาหนึ่ง
ศาสตราจารย์กิตติเมธี
ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าเป็นอย่างไร หากแปลตามชื่อจะได้ว่าเป็นนักปราชญ์หรือนักวิจัยผู้มีชื่อเสียง ซึ่งอาจตรงกับ research professor ของบางประเทศ มีการตั้งศาสตราจารย์ประเภทนี้แพร่หลายขึ้นในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทยของภาครัฐและภาคเอกชน
อย่างไรก็ดี ทั้งตำแหน่งศาสตราภิชาน และศาสตราจารย์กิตติเมธีอาจมีเงื่อนไขในการดำรงตำแหน่งไม่เหมือนกัน เช่น ศาสตราภิชานของไทยมีวาระเพียงปีเดียว
ศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์
การตั้งศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์จากผู้ไม่มีความรู้แต่ทำประโยชน์ เช่น บริจาคเงินแก่มหาวิทยาลัย ซึ่งศาสตราจารย์แบบนี้ยังไม่มีปรากฏในประเทศไทย

ระดับผลงาน ที่อยู่ในขั้นศาสตราจารย์
ศาสตราจารย์ต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในเชิงทฤษฎี การวิจัย เขียนบทความทางวิชาการ หรือตำราเรียน ที่ผ่านการประเมินเฉพาะสาขาวิชานั้นๆ มาแล้ว ศาสตราจารย์ที่ไม่ต้องทำผลงานวิจัย หมายถึง ผู้ที่เขียนบทความทางวิชาการ (หรือหนังสือ) ที่มีข้อเสนอเชิงวิชาการจำนวนมาก ต้องเป็นแนวคิดใหม่ และต่อมาคนในวงการเรียก ข้อเสนอหรือแนวคิดใหม่ ดังกล่าวนั้น ว่า ทฤษฎี ดังเช่น Albert Einstein ที่ไม่เคยทำงานวิจัย หรือเข้าห้องทดลอง แต่เสนอเรื่องสัมพันธภาพระหว่างความเร็วและเวลา และต่อมาคนในวงการเรียกข้อเสนอดังกล่าวว่าทฤษฎี (ผู้เสนอไม่มีสิทธิเรียก แนวคิดของตนเองว่า ทฤษฎี)
ศาสตราจารย์ของไทย ส่วนมากไม่มีผลงานในเชิงทฤษฎี แต่เป็นผลงานงานวิจัย พิสูจน์สมมุตฐาน ที่ได้รับการยอมรับว่า 'ดีมาก' ถ้าเป็นงานวิจัยที่เกี่ยวกับของไทย (เช่น ประวัติศาสตร์ไทย ภาษาไทย วัฒนธรรมไทย โบราณคดี) ควรได้รับการตีพิมพ์ ในวารสารวิชาการของราชบัณฑิตสภา หรือวารสารวิชาการของสภาวิจัยแห่งชาติ มิใช่เพียงวารสารวิชาการของมหาวิทยาลัย
หากเป็นงานวิจัยที่เป็นลักษณะสากล (วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์) ควรได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ส่วนงานวิจัยระดับดีเลิศ มักเกี่ยวข้องกับงานเชิงทฤษฎี หรือกฏเกณฑ์ใหม่ ที่ไขปริศนา หรือพิสูจน์สมมุติฐานที่มีผู้สร้างไว้
ควรระลึกเสมอว่า งานวิจัยระดับดีมาก หรือดีเลิศนั้น ไม่จำเป็นต้องได้รับรางวัลใดๆ ทั้งสิ้น แต่มักได้รับการกล่าวถึง หรืออ้างอิงถึง โดยงานวิจัยอื่น ๆ ที่ตามมาภายหลัง จำนวนการอ้างอิงนี้ ถึงบ่งบอกถึงความสำคัญของงานวิจัยชิ้นดังกล่าว ไม่ใช่จำนวนรางวัลที่ได้รับ
ราชบัณฑิต
เป็นตำแหน่งทางวิชาการสูงสุดของแต่ละประเทศ สำหรับประเทศไทย ต้องได้รับการโปรดเกล้าฯ มีเก้าอี้จำนวนจำกัด จะพ้นวาระก็ต้องเมื่อถึงแก่กรรมเท่านั้น ดังเช่น มี ๒ ตำแหน่งสำหรับ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งต้องคัดเลือกจากศาสตราจารย์ด้านแพทยศาสตร์ นับหลายร้อยคน จากหลายสิบสาขา มีบางกรณีที่ผู้เชี่ยวชาญสูงสุดมิได้ทำงานในสถาบันการศึกษา จึงอาจไม่มีตำแหน่งศาสตราจารย์ก็เป็นได้ ผู้ที่มีตำแหน่งดังกล่าว มีสิทธิที่จะคำว่า ราชบัณฑิต ต่อท้ายชื่อได้
Author
การเรียกด้วยความยกย่องในระดับสากล มีการใช้คำว่า Author ซึ่งหมายถึง ผู้เขียนหนังสือ หรือตำราเล่มใด เล่มหนึ่ง ที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีใหม่ และเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางของคนในวงการนั้น มักมีความหมายแฝงถึง Authority หรือ ผู้มีอำนาจในการฟันธง ว่าจะตัดสินอย่างไรในเรื่องต่าง ๆ
การเรียกคำนำหน้าชื่อ
ในสากลประเทศ ผู้ที่ได้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์แล้ว มักไม่ใช่คำว่า ดร. ต่อให้ยืดยาวออกไป เพราะคำว่า ศ. หรือ Prof. นี้ เป็นเกียรติที่สูงส่งกว่าการจบปริญญาเอกหลายเท่าตัว และผู้ที่เป็นราชบัณฑิต อาจใช้แค่คำว่า นาย/นาง.... ราชบัณฑิต เพราะถือว่า เป็นเกียรติสูงส่งกว่า ตำแหน่งศาสตราจารย์ และหากมีชื่อเสียงจนเป็นที่รู้จักทั่วไปแล้ว อาจไม่ใช้ราชบัณฑิตก็ได้ ยิ่งผลงานดีมากขึ้นเท่าไร ชื่อก็จะยิ่งสั้นลงจนเหลือแต่นามสกุล และกลายเป็นหน่วยวัด กลายเป็นอักษรย่อไปในที่สุด ดังเช่น [Newton] (N), [Watt](W), ด.ร.(กรมพระยาดำรงราชานุภาพ), ป.ณ.(ประเสริฐ ณ นคร)
ผู้เชี่ยวชาญสูงสุดที่แท้จริง ในปัจจุบัน
ในปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญที่มีผลงานระดับศาสตราจารย์ส่วนใหญ่ มิได้สอนในมหาวิทยาลัย และมีตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ พวกหัวกระทิเหล่านี้ทำงานในบริษัทเอกชน ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าหลายเท่าตัว และไม่ต้องรับภาระการบริหาร ดังเช่นสาขาไอที ได้แก่ Microsoft สาขาการแพทย์ ได้แก่ Johnson&Johnson สาขาสื่อสาร ได้แก่ AT&T สาขาการบิน ได้แก่ NASA ผลงานวิจัยจากบริษัทเหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อวิถีการทำงานของผู้เชี่ยวชาญ (รวมถึงศาสตราจารย์) ในสาขานั้น ๆ ทั่วโลก แต่ผลงานเหล่านี้ถือว่าเป็นขององค์กร มิใช่ของบุคคล จึงนำไปขอตำแหน่งทางวิชาการไม่ได้
จำนวนศาสตราจารย์ในประเทศไทย
ข้อมูลจำนวนผู้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง "ศาสตราจารย์" ของประเทศไทย ณ กรกฎาคม พ.ศ. 2549 รวม 406 คน[1] โดย 10 สถาบันแรกที่มีจำนวนศาสตราจารย์มากที่สุด ได้แก่
1. มหาวิทยาลัยมหิดล 135 คน (นับรวม ศาสตราจารย์คลีนิคแล้ว)
2. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 101 คน (ไม่มีตำแหน่งศาสตราจารย์คลีนิค)
3. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 34 คน
4. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 27 คน
5. มหาวิทยาลัยขอนแก่น 21 คน
6. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 19 คน
7. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 12 คน
8. มหาวิทยาลัยรังสิต และ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ แห่งละ 11 คน[2]
9. มหาวิทยาลัยศิลปากร 10 คน
10. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ มหาวิทยาลัยสยาม[2] แห่งละ 9 คน

ไม่มีความคิดเห็น: